Sunday, 28 April 2024
ดร.พีรภัทร ฝอยทอง

เสี่ยงต่อไหม? เมื่อการฝากเงินกับธนาคาร การันตีความคุ้มครองเงินฝาก​แค่ '1​ ล้าน'​ หากแบงก์ปิดตัว​

เมื่อเดือนที่แล้วมีข่าวใหญ่ที่ประชาชนหลายคนให้ความสนใจเรื่องหนึ่งก็คือ ข่าวที่ว่าธนาคารจะลดความคุ้มครองเงินฝากของลูกค้าเหลือเพียงรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท

ข่าวนี้ทำให้หลายคนตกใจ แม้ว่าตัวเองจะไม่มีเงินฝากถึง 1 ล้านบาทในธนาคารก็ตาม (ผมเองก็มีไม่ถึงเช่นกัน) เพราะ มีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจของประเทศที่มีปัญหารุนแรงจากการระบาดของโรคโควิดที่ตอนนี้สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น หลายคนกลัวถึงขั้นว่าข่าวนี้ออกมาแล้ว ธนาคารเราจะล้มเหมือนตอนวิกฤตต้มยำกุ้งที่มีสถาบันการเงินหลายแห่งต้องปิดตัวไปหรือไม่

ขอตอบตรงบรรทัดนี้ให้สบายใจก่อนว่า “ไม่ใช่ครับ” ตอนนี้ธนาคารในประเทศเรามีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งมาก

แต่การลดความคุ้มครองเงินฝากนั้น เป็นผลจากกฎหมายที่มีการกำหนดเอาไว้ล่วงหน้ามาแล้วหลายปี ไม่ใช่รัฐบาลชุดนี้เพิ่งมากำหนดขึ้นแต่อย่างใด

เราต้องย้อนความเดิมกลับไปถึงวิกฤตต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 ที่ตอนนั้นสถาบันการเงินหลายแห่ง รวมทั้งธนาคารต้องปิดตัวลง ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งต้องเดือดร้อนจากการที่ต้องสูญเสียเงินไปกับสถาบันการเงินที่ต้องปิดกิจการ แม้ว่ารัฐบาลจะเข้ามาช่วยอุ้มก็ตาม แต่ก็มีการตั้งคำถามว่าทำไมรัฐบาลถึงต้องเอาเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศมาอุ้มเงินฝากของประชาชนเพียงบางกลุ่ม

ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงได้มีการเสนอให้จัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2546 เพื่อทำหน้าที่คุ้มครองเงินฝากให้กับผู้ฝากเงินแทนที่จะต้องเป็นภาระของรัฐบาล และต่อมาในปี พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ก็ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาออกมาเป็นกฎหมาย

โดยกำหนดให้ผู้ฝากเงินได้รับความคุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท ตามจำนวนเงินฝากที่ปรากฏในบัญชีของผู้ฝากทุกบัญชีรวมกัน แต่รัฐบาลในขณะนั้นก็เกรงว่าประชาชนจะตื่นตกใจ เพราะช่วงปี 2551 นั้นก็มีวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ หรือ ที่หลายคนรู้จักกันในชื่อของแฮมเบอร์เกอร์ไครซิส กฎหมายจึงได้กำหนดบทเฉพาะกาลเอาไว้ ดังนี้

ปีที่หนึ่ง คุ้มครองเต็มจำนวนเงินที่ปรากฏในบัญชี 

ปีที่สอง คุ้มครองไม่เกิน 100 ล้านบาท

ปีที่สาม คุ้มครองไม่เกิน 50 ล้านบาท

ปีที่สี่ คุ้มครองไม่เกิน 10 ล้านบาท

และหลังจากนั้นก็จะคุ้มครองไม่เกิน 1 ล้านบาทตามที่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศต่อจากนั้น ก็ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้น พ.ศ. 2552 และพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 และ พ.ศ. 2559 เพื่อขยายระยะเวลาการลดจำนวนเงินฝากออกมาเรื่อย ๆ 

“DeFi” โลกการเงินไร้กฎหมาย (จริงหรือ?)

ปัจจุบันระบบการเงินการธนาคารของโลกเราพัฒนาไปมาก เราสามารถทำธุรกรรมทางการเงินผ่านคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือได้อย่างสะดวกสบายจากที่บ้าน แทบไม่ต้องไปต่อแถวทำธุรกรรมอะไรที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินอีกต่อไป

แต่โลกการเงินก็ยังไม่หยุดพัฒนาเพียงเท่านี้ ตอนนี้กระแสของโลกการเงินในยุคใหม่ที่กำลังมาแรงและถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ คือ โลกการเงินแบบ DeFi

DeFi ย่อมาจากคำว่า Decentralized Finance หรือระบบการเงินที่ไม่มีตัวกลางเหมือนในระบบการเงินในปัจจุบันที่เรามีธนาคาร หรือ สถาบันการเงินเป็นตัวกลางในการตรวจสอบการทำธุรกรรมต่าง ๆ

>>> ตัวอย่างเช่น เราไปทำการฝากเงินกับธนาคาร ธนาคารก็จะบันทึกข้อมูลการทำธุรกรรมการฝากเงินเข้าไปในระบบของธนาคาร ส่วนเราก็จะได้ข้อมูลนั้นกลับมาในรูปแบบของสมุดบัญชีเงินฝาก หากเราต้องการตรวจสอบดูว่าเรามีเงินคงเหลือในธนาคารเท่าไหร่ เราก็สามารถนำสมุดบัญชีเงินฝากนั้นไปอัพเดทที่ธนาคาร แล้วเราจะเห็นข้อมูลล่าสุดที่เป็นปัจจุบัน

ธนาคารจึงมีบทบาทสำคัญในระบบการเงินของโลกเรามาโดยตลอด เพราะทุกคนมีความเชื่อมั่นว่าข้อมูลที่เรามีอยู่กับธนาคารนั้นมีความถูกต้อง เงินที่เราฝากไว้กับธนาคารจะไม่สูญหายหรือถูกขโมยไปไหน เว้นแต่ธุรกิจของธนาคารจะล้มละลายและต้องปิดกิจการไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อคริปโตเคอร์เรนซีเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้น เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่อมาเทคโนโลยีดังกล่าวก็ถูกนำมาต่อยอดในรูปแบบ Smart Contract  หรือ สัญญาอัจฉริยะ ที่เราสามารถแปลงเงื่อนไขสัญญาต่าง ๆ มาอยู่ในรูปแบบของโค้ดและโค้ดนั้นก็จะสามารถทำงานได้ทันทีที่ตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงไว้

ยกตัวอย่างเช่น หากผมทำสัญญากับบริษัทไว้ว่า ถ้ามีคนอ่านบทความของผมเกิน 10,000 วิว ผมจะได้รับเงิน 1,000 บาท และต่อจากนั้นที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 1,000 วิว ผมจะได้เพิ่มอีก 100 บาท เวลาที่บริษัทจะจ่ายเงิน บริษัทก็จะต้องส่งคนมาตรวจสอบว่ามีบทความนี้มียอดวิวเท่าไหร่แล้ว หลังจากตรวจแล้วก็ต้องนำเรื่องไปเสนอผู้มีอำนาจในการอนุมัติเพื่อสั่งจ่าย ต่อจากนั้นฝ่ายบัญชีถึงจะทำการจ่ายเงินให้กับผมได้

แต่ถ้าเราเปลี่ยนใหม่มาเขียนข้อตกลงดังกล่าวไว้ในรูปแบบของ Smart Contract โค๊ดที่เราเขียนไว้ก็จะสามารถเช็กยอดวิวบนบทความผมได้ตลอดเวลา และเมื่อยอดวิวถึงตามข้อกำหนดที่ตกลงกันเอาไว้ ระบบก็จะโอนเงินมาเข้าบัญชีผมทันทีโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมีใครมานั่งนับ ตรวจสอบ แล้วก็ทำเรื่องจ่ายเงินอีก

เมื่อมีคนเห็นถึงประโยชน์ของ Smart Contract ที่ทำให้การทำธุรกรรมต่าง ๆ มีความสะดวก โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้บนเทคโนโลยีบล็อกเชน จึงมีการต่อยอดนำเอาเทคโนโลยีดังกล่าวมาพัฒนาเป็นระบบการเงินที่ไร้ตัวกลาง หรือ DeFi โดยสิ่งที่เข้ามาทำหน้าที่แทนธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เป็นตัวกลาง คือ Smart Contract ที่เขียนเงื่อนไขต่าง ๆ ขึ้นไว้นั่นเอง 

ประโยชน์หลักของการเงินแบบ DeFi คือ การที่ไม่มีกลางเข้ามากินส่วนต่าง ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับผลตอบแทนมากขึ้น เพราะเราไม่ต้องเสียค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมให้ตัวกลางเหล่านั้น

เช่น คนที่ต้องการปล่อยกู้ กับ คนที่ต้องการกู้เงิน สามารถกู้เงินกันได้โดยตรง ไม่ต้องมีธนาคารมาเป็นตัวกลาง คนกู้ก็เสียดอกเบี้ยถูกลง ส่วนคนให้กู้ก็ได้ดอกเบี้ยมากขึ้น เพียงแต่เราก็จะมีความเสี่ยงถ้าคนกู้ไม่ยอมชำระหนี้ แล้วเราจะไปติดตามทวงคืนยาก ต่างจากการฝากเงินไว้กับธนาคารที่เราสามารถไปถอนเงินเมื่อไหร่ก็ได้

แต่ Smart Contract สามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้ โดยคนกู้อาจจะต้องมีหลักประกันอะไรเข้ามาวางไว้ในระบบ และถ้าถึงกำหนดชำระหนี้แล้วไม่ชำระ ระบบก็จะโอนหลักประกันนั้นให้เจ้าหนี้ได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาไปฟ้องร้องกันทีหลัง

อย่างไรก็ตาม ระบบการเงินแบบ DeFi ที่ทำให้ตัวกลางหรือสถาบันการเงินหายไปนั้น สิ่งที่ตามมา คือ หน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงินเหล่านั้น ก็จะไม่สามารถเข้าไปช่วยกำกับดูแลแพลตฟอร์ม DeFi ต่าง ๆ ได้

ดังนั้น หากผู้ใช้บริการเกิดปัญหาเราก็จะไม่สามารถไปเรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลเข้ามาช่วยเหลือได้

ยกตัวอย่าง เช่น หากเราถอนเงินออกจากแพลตฟอร์ม DeFi แห่งหนึ่งไม่ได้ เราจะไปร้องเรียนให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ สำนักงาน ก.ล.ต. เข้ามาช่วยจัดการกับแพลตฟอร์ม DeFi ดังกล่าวไม่ได้ เพราะหน่วยงานเหล่านั้นไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลแพลตฟอร์ม ​DeFi 

ทำให้หลายคนเข้าใจว่า DeFi เป็นโลกการเงินที่ไร้กฎหมาย คนที่ใช้บริการทุกคนต้องรับความเสี่ยงและต้องดูแลรับผิดชอบตัวเอง หากถูกแพลตฟอร์ม DeFi หลอกลวง หรือโกง เราไม่สามารถเรียกร้องจากใครได้

ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดนะครับ เพราะ โลกการเงินแบบ DeFi เป็นระบบการเงินที่ไร้ตัวกลาง ทำให้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขของหน่วยงานกำกับดูแลในการประกอบธุรกิจเท่านั้น

แต่ก็ไม่ได้ความว่าใครจะเข้ามาโกงใครในโลก DeFi ก็ได้ครับ

เพราะการโกงหรือหลอกลวงไปให้ได้ซึ่งทรัพย์สินของบุคคลอื่น เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามกฎหมายอาญา และยิ่งเป็นการหลอกคนจำนวนมาก ๆ ก็จะถือว่าเป็นการฉ้อโกงประชาชนที่มีโทษหนักขึ้นด้วย

ถ้าใครจำคดี Forex3D กันได้ บริษัทที่ให้บริการ Forex3D เขาก็ไม่ได้มีใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย หากใครไปลงทุนกับบริษัทนั้นก็จะต้องรับความเสี่ยงกันเอาเอง ซึ่งช่วงแรกมีกรณีที่คนถอนเงินแล้วมีความล่าช้าใช้เวลาเป็นเดือนกว่าที่จะได้เงินคืน แบบนี้เราก็ไม่สามารถไปร้องเรียนให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาช่วยเหลือได้ เพราะบริษัทเขาไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย

แต่ภายหลังเมื่อมีการเปิดโปงออกมาว่า Forex3D นั้น ความจริงแล้วไม่ได้มีการประกอบธุรกิจจริง แต่บริษัทดังกล่าวหลอกลวงให้คนเข้ามาลงทุนในลักษณะของแชร์ลูกโซ่ ผู้เสียหายจึงสามารถรวมตัวกันไปแจ้งความเอาผิดฐานฉ้อโกงประชาชนกับ DSI

ซึ่งไม่ต่างจากโลกการเงินแบบ DeFi ที่แม้ว่าเราจะไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม แต่ถ้าแพลตฟอร์ม DeFi นั้นมีลักษณะหลอกลวงคนเข้าไปลงทุนในลักษณะของแชร์ลูกโซ่ เราก็สามารถแจ้งความเอาผิดเจ้าของแพลตฟอร์มดังกล่าวได้

เพียงแต่ความยากของการดำเนินคดีกับพวกที่โกงในโลกการเงินแบบ DeFi นี้อาจจะยากเสียหน่อย เพราะต้องอธิบายการทำผิดนั้นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ศาล เข้าใจก่อนว่า DeFi คืออะไร คนที่หลอกลวงคนให้เข้ามาลงทุนได้ทรัพย์สินอะไรไปบ้าง ซึ่งบางทีสิ่งที่เขาได้ไปอาจจะไม่ใช่เงินจริง ๆ แต่เป็น คริปโตเคอร์เรนซี เราก็ต้องอธิบายเรื่องของคริปโตเคอร์เรนซีหรือสินทรัพย์ดิจิทัลให้คนในกระบวนการยุติธรรมเข้าใจด้วย เขาถึงจะช่วยเราเอาผิดได้

สรุปแล้ว โลกการเงินแบบ DeFi แม้จะเป็นระบบการเงินที่ไร้ตัวกลาง ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ แต่ก็ไม่ใช่โลกที่ไร้กฎหมาย เรายังสามารถดำเนินคดีอาญากับคนที่เข้ามาหลอกลวงหรือฉ้อโกงได้เหมือนระบบการเงินปกติ เพียงแต่โลกการเงินแบบ DeFi นี้ เราจะต้องใช้ความระมัดระวังตัวมากขึ้นในการทำธุรกรรมต่าง ๆ เนื่องจากไม่มีธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ สำนักงาน ก.ล.ต. เข้ามาช่วยสอดส่องดูแลนั่นเอง


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ประชาชน “ฟ้อง” รัฐบาล ได้หรือไม่ ?

ช่วง 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่ต้องนอนรอรับการรักษาอยู่ที่บ้าน เนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีเตียงว่างมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ติดเชื้อและครอบครัวของผู้ติดเชื้อต่างใช้ความพยายามในการติดต่อโรงพยาบาลต่าง ๆ รวมถึงโทรเข้าไปที่เบอร์สายด่วนโควิดที่หน่วยงานรัฐแจ้งไว้เพื่อหาเตียงให้กับผู้ติดเชื้อ

แต่ก็ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อทุกรายจะได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ทันท่วงที ผู้ติดเชื้อบางรายนอนรอเตียงอยู่เป็นสัปดาห์ สุดท้ายร่างกายก็ไม่สามารถต้านทานความร้ายกาจของเจ้าไวรัสโควิดนี้ได้ ทำให้พวกเขาเหล่านั้นต้องจากไปโดยที่ไม่มีโอกาสได้รับการรักษาพยาบาลตามที่ควรจะเป็น

มีเหตุการณ์หนึ่งที่น่าสะเทือนใจมาก คือ พลเมืองดีรายหนึ่งได้ลงไปช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่ปรากฏว่าผู้ที่ประสบอุบัติเหตุนั้นมาทราบในภายหลังว่ามีเชื้อโควิดอยู่ จึงได้แจ้งให้พลเมืองดีที่ลงไปช่วยเหลือตนทราบ หลังจากทราบเรื่องเพื่อน ๆ และครอบครัวของพลเมืองรายดังกล่าวได้พยายามติดต่อโรงพยาบาล โทรสายด่วนต่าง ๆ จนผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์กว่าก่อนที่จะมีรถพยายาลมารับตัวเขาไปรักษา แต่เนื่องจากการที่ได้รับการรักษาที่ล่าช้าทำให้อาการของเขาทรุดหนัก ผ่านไปเพียง 2 วัน พลเมืองดีท่านนี้ก็ต้องจากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควร

หลายคนที่ได้ฟังเรื่องนี้แล้วอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องของความโชคร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน สถานการณ์โรคระบาดเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่มีใครอยากให้เกิด 

อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของพลเมืองดีรายดังกล่าวกลับไม่ได้คิดเช่นนั้น โชคชะตาอาจเป็นสิ่งที่เรากำหนดไม่ได้ แต่การบริหารจัดการที่ดี ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาล

ครอบครัวดังกล่าวจึงได้ตัดสินใจยื่นฟ้องศาลปกครอง โดยมี 2 ประเด็นที่สำคัญ คือ

1.) การที่รัฐบาลปล่อยปละละเลยให้มีการเปิดสถานบันเทิง จนนำมาซึ่งคลัสเตอร์ทองหล่อ และ
.
2.) การปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรในการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉิน รวมถึงการให้ข้อมูลหรือข้อแนะนำของผู้ติดเชื้อที่ให้กักตัวรอการมารับของเจ้าหน้าที่จนนำมาซึ่งการเสียชีวิต

โดยทางครอบครัวได้เรียกร้องให้รัฐชดใช้ค่าเสียหายจำนวนทั้งสิ้น 4,530,000 บาท แบ่งเป็นค่าปลงศพ 30,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูบุพการี อีกเดือนละ 15,000 บาท เป็นระยะเวลา 25 ปี 

หากมองที่ตัวเงินแล้ว คดีนี้ถือว่าเป็นคดีที่เล็กมาก แต่ถ้าเราพิจารณาในเชิงสัญลักษณ์ คดีนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิฟ้องรัฐที่บริหารจัดการผิดพลาด ปล่อยปละละเลยการปฏิบัติหน้าที่ จนทำให้เกิดความเสียหายกับประชาชน

หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วปกติประชาชนธรรมดาอย่างเรานี้ จะสามารถลุกขึ้นมาฟ้องหน่วยงานรัฐได้หรือไม่

แม้ว่าผมจะไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าคดีที่ผมกล่าวถึงข้างต้นศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ หรือว่ารับพิจารณาไปแล้วจะมีคำพิพากษาออกมาแบบใด 

แต่ผมก็ขอเล่าถึงอุทาหรณ์จากคดีที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และแนวทางการวินิจฉัยของศาลปกครองที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร

คดีแรก เป็นกรณีที่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์หลายหนึ่งเมาสุรา แล้วปรากฏว่าขับรถไปประสบอุบัติเหตุตกช่องเปิดท่อระบายน้ำข้างทางที่ไม่มีฝาปิด จนทำให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ได้รับบาดเจ็บ โดยมีอาการอวัยวะซีกซ้ายไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ เนื่องจากการที่สมองถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง รวมถึงรถจักรยานยนต์ที่ขับมานั้นเสียหายไปด้วย

หลังจากที่ได้รับการรักษาตัวแล้ว ผู้ขับขี่ที่ประสบเหตุคนดังกล่าวได้ออกมาฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ว่าไม่มีการดูแลและตรวจสอบฝาบ่อพักท่อระบายน้ำที่ตั้งอยู่ริมขอบทางของถนนให้อยู่ในสภาพปลอดภัย จึงถือว่า อบต. ดังกล่าวละเลยต่อหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้กับตนด้วย

อ่านถึงตรงนี้หลายท่านอาจจะสงสัยว่า คนฟ้องคดีขับรถจักรยานยนต์ไปตกท่อเอง แถมยังตอนขับยังเมาด้วย แล้วแบบนี้เขาจะไปเรียกร้องให้ อบต. รับผิดชอบได้อย่างไร ?

แต่ศาลปกครองท่านไม่ได้คิดแบบนั้นครับ ในคดีดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า อบต. และหน่วยงานรัฐอื่น ๆ มีหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลรักษาบำรุงทางในเขตพื้นที่ของตนเพื่อให้ประชาชนผู้ใช้ทางได้รับความสะดวกและปลอดภัย ซึ่งรวมถึงการตรวจตราฝาท่อระบายนำหรือสิ่งใด ๆ ที่อยู่บนถนนหนทางให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ทาง หากละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว จนเป็นเหตุให้ผู้ใช้ทางสัญจรประสบอุบัติเหตุได้รับความเสียหาย ถือว่าเป็นการทำละเมิดและต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายด้วย

อย่างไรก็ตามแม้ว่า อบต. จะละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตรวจตราฝาท่อระบายน้ำให้ดี แต่ในส่วนของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวก็มีส่วนประมาทที่ขับขี่ขณะเมาสุรา ศาลจึงละค่าสินไหมทดแทนที่จะได้ลงร้อยละ 50 ของค่าสินไหมทดแทนที่พึงจะได้

สรุปสุดท้าย คดีนี้ศาลได้ตัดสินให้ อบต. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่มาฟ้องคดี แต่ลดจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้ลงครึ่งหนึ่งเนื่องจากผู้ฟ้องคดีมีส่วนประมาทที่เมาแล้วขับด้วย

อีกคดีหนึ่งที่น่าสนใจ คือ คดีที่คุณพ่อท่านหนึ่งพาลูกไปว่ายน้ำที่สระว่ายน้ำของเทศบาล ปรากฏว่าลูกของเขาจมน้ำเสียชีวิต พ่อของเด็กที่เสียชีวิตจึงไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองเนื่องจากเห็นว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของเทศบาลไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่บริเวณริมสระ จึงไม่สามารถช่วยลูกของเขาได้อย่างทันท่วงที ถือว่าละเลยต่อหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยของผู้ใช้บริการสระว่ายน้ำ

ฝ่ายของเทศบาลก็ต่อสู้ว่า สระได้เขียนระเบียบว่าด้วยการใช้สระน้ำไว้แล้วว่า ผู้ที่มาใช้บริการสระว่ายน้ำจะต้องระมัดระวังในการใช้สระว่ายน้ำ และหากเกิดเหตุสุดวิสัยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ทางเทศบาลจะไม่รับผิดชอบทุกกรณี 

อ่านดูแล้วก็เหมือนว่ามีเหตุผลทั้งสองฝ่าย แต่มาลองดูกันครับว่าในเคสนี้ ศาลปกครองท่านวินิจฉัยเอาไว้ว่าอย่างไร

ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาว่า ขณะเกิดเหตุมีเด็กมาใช้บริการจำนวนมาก เทศบาลย่อมคาดหมายได้ว่าอาจเกิดกรณีเด็กจมน้ำได้ง่าย จึงต้องควบคุมดูแลเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในบริเวณที่สามารถสอดส่องดูแลผู้ใช้บริการได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่อาจปฏิบัติหน้าที่บริเวณริมสระว่ายน้ำได้ ถือได้ว่ามาตรการป้องกันและรักษาความปลอดภัยแก่ผู้มาใช้บริการสระว่ายน้ำนั้นยังไม่ได้มาตรฐานเพียงพอ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้เด็กจมน้ำเสียชีวิต เทศบาลจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียไหมทดแทนให้กับพ่อของเด็ก

จากอุทาหรณ์ทั้งสองคดีดังกล่าว เราไม่สามารถเทียบเคียงได้ว่าครอบครัวของพลเมืองดีที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิดแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะชนะคดีนะครับ

ผมต้องการแต่เพียงชี้ให้เห็นว่า ประชาชนคนธรรมดาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ หากได้รับความเดือดร้อนหรือได้รับความเสียหายจากการที่หน่วยงานหรือองค์กรใดของรัฐละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ก็เป็นสิทธิของเราที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีได้ครับ ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด

เรามารอติดตามกันนะครับว่าในคดีครอบครัวของพลเมืองดีฟ้องรัฐว่าปล่อยปละละเลยจนทำให้โควิดระบาด และการบริหารจัดการที่ล่าช้าจนทำให้ผู้เสียชีวิตไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีนั้น ศาลท่านจะพิพากษาออกอย่างไร ซึ่งผมเชื่อว่าคำพิพากษาในคดีนี้ ก็จะเป็นอีกหนึ่งบรรทัดฐานของประเทศไทยเราอย่างแน่นอนครับ 


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

เกร็ดกฎหมายจากคดีน้องชมพู่

สัปดาห์ที่ผ่านมา คดีการเสียชีวิตปริศนาของ “น้องชมพู่” เด็กหญิงวัย 3 ขวบ ที่หายตัวจากบ้าน ในหมู่บ้านกกกอก ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 กลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งเมื่อ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการออกหมายจับ “นายไชย์พล วิภา” หรือ “ลุงพล” ลุงเขยของน้องชมพู่หลังจากที่ได้มีการลงพื้นที่เก็บหลักฐาน และสอบปากคำพยานมานานกว่า 1 ปี 

โดยเจ้าหน้าที่ได้ตั้งข้อหาลุงพล 3 ข้อหาด้วยกัน คือ

1.) พรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดามารดา โดยปราศจากเหตุอันควร

2.) ทอดทิ้งเด็กอายุไม่เกินเก้าปี เพื่อให้เด็กนั้นพ้นไปเสียจากตน โดยประการที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแล เป็นเหตุให้เด็กถึงแก่ความตาย และ

3.) กระทำการใด ๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป

ผมคงไม่สามารถฟันธงได้ว่าลุงพลจะผิดตามข้อกล่าวหาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับหรือไม่ เพราะผมไม่ได้มีส่วนร่วมในคดีนี้แต่อย่างใด

แต่ที่จะนำมาเล่าให้ฟัง คือ เกร็ดความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย เพื่อที่จะให้ผู้ที่ติดตามคดีนี้ได้เข้าใจมากขึ้นถึงหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ มาลองติดตามอ่านกันไปทีละประเด็นนะครับ

ตอนนี้ลุงพลมีสถานะเป็น “ผู้ต้องหา” หรือ “จำเลย” ในคดีน้องชมพู่

ความแตกต่างระหว่าง ผู้ต้องหา กับ จำเลย คือ ผู้ต้องหา หมายถึง บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด แต่ยังไม่ได้ดำเนินการฟ้องศาล ส่วนจำเลย หมายถึงบุคคลซึ่งถูกฟ้องศาลว่าได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหานั้นแล้ว

ดังนั้น ตอนนี้ลุงพลจึงมีสถานะเป็นเพียงผู้ต้องหา เนื่องจากคดีนี้ลุงพลยังไม่ถูกฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งกว่าคดีจะไปสู่ศาลนั้น ลุงพลยังมีโอกาสแก้ข้อกล่าวหาทั้งในชั้นเจ้าพนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการ ซึ่งอาจจะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องก็ได้

ทำไมลุงพลถึงถูกออกหมายจับ

ตามปกติแล้ว หากไม่ใช่กรณีที่เป็นความผิดซึ่งหน้า ตำรวจจะต้องไปขอศาลเพื่อออกหมายจับเสียก่อน แต่ก็ไม่ใช่ว่าศาลจะออกหมายจับให้ในทุกกรณี 

โดยศาลจะพิจารณาออกหมายจับให้ก็ต่อเมื่อมีเหตุตามที่กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดไว้ ดังนี้
(1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ

(2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น

ซึ่งในกรณีของลุงพลนี้ ศาลคงได้พิจารณาจากพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วเชื่อว่าลุงพลน่าจะได้กระทำความผิด และโทษตามข้อกล่าวหานั้นก็มีอัตราโทษสูงเกิน 3 ปี

แต่อย่างไรก็ตาม การที่ลุงพลถูกออกหมายจับ ก็ไม่ได้หมายความว่าลุงพลมีความผิดตามข้อกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด 

ลุงพลเป็นผู้ต้องหาและถูกออกหมายจับแล้ว ทำไมถึงบอกว่าลุงพลยังไม่มีความผิด

ที่บอกว่าลุงพลยังไม่มีความผิดนั้น เป็นเพราะ ตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศบัญญัติเอาไว้ว่า 

“ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษา อันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”

ดังนั้น เมื่อยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าลุงพลเป็นผู้กระทำผิด เราจึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าตอนนี้ลุงพลยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่นั่นเอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะปฏิบัติต่อลุงพลเสมือนว่าเป็นผู้กระทำความผิดแล้วไม่ได้

ทำไมลุงพลถึงไม่ถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา 

มีหลายคนสงสัยว่า การที่ตำรวจดำเนินคดีกับลุงพล 3 ข้อหา โดยไม่มีการตั้งข้อหาฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตนั้นเป็นเพราะอะไร 

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า ในการดำเนินคดีนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำไปตามพยานหลักฐานที่มี แม้ว่าจะน้องชมพู่จะเสียชีวิตจริง แต่ถ้าไม่มีพยานหลักฐานที่เชื่อมโยงได้ว่าลุงพลเป็นผู้ลงมือทำ หากคดีขึ้นสู่ชั้นศาล ข้อกล่าวหานั้นก็จะถูกหักล้างได้โดยง่าย

เนื่องจากในการดำเนินคดีอาญานั้น หากมีเหตุอันควรสงสัย ศาลจะต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้กับจำเลย ซึ่งเป็นไปตามหลักการของกฎหมายที่ว่า 

“ปล่อยคนผิดสิบคน ดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์หนึ่งคน”


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

มหากาพย์!! 'กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล'

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติขยายเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ Personal Data Protection Act (PDPA) ออกไปอีก 1 ปี ทำให้กฎหมายฉบับนี้จะเลื่อนไปมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2565

โดยเหตุผลที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอให้ ครม. พิจารณาเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ คือ... 

1.) การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้ มีรายละเอียดมากและซับซ้อน

2.) การปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสมดังเจตนารมณ์ของกฎหมาย

3.) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดระบาดยังมีอยู่ต่อเนื่องและรุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจำนวนมากไม่พร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
 
เท่ากับว่ากฎหมายฉบับนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2562 แต่กว่าจะได้บังคับใช้เต็มรูปแบบ (ถ้าไม่ถูกเลื่อนอีกรอบ) ก็ปี 2565 เลย 

3 ปีที่กฎหมายออกมาแล้วกว่าจะมีผลใช้บังคับอาจจะดูว่านาน แต่ถ้าเพื่อน ๆ ได้ทราบประวัติศาสตร์ของกฎหมายคุ้มครองส่วนบุคคลนี้แล้วจะตกใจกว่านี้ครับ

เพราะกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนี้ ถือเป็นมหากาพย์การร่างกฎหมายที่ยาวนานที่สุดฉบับหนึ่งของประเทศไทยเลยทีเดียว

เท่าที่ผมลองสืบค้นดู ก็พบว่า (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ของประเทศไทยเริ่มต้นร่างครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2541 โดยสาเหตุที่ต้องเริ่มต้นร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในขณะนั้น ก็เนื่องมาจากรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 34 บัญญัติไว้ว่า... 

“มาตรา ๓๔ สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวย่อมได้รับความคุ้มครอง”

แต่กว่าที่ร่างกฎหมายคุ้มครองฉบับแรกจะถูกเสนอให้ ครม. พิจารณาได้ ก็ต้องรอถึงปี พ.ศ. 2549  หรือ กว่า 8 ปีนับแต่ที่เริ่มต้นร่างขึ้น และแม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะได้มีมติเห็นชอบในหลักการดังกล่าวแล้ว แต่กระบวนการที่จะผ่านออกมาเป็นกฎหมายให้ใช้บังคับได้นั้น ก็จะต้องกลับไปผ่านการพิจารณาของรัฐสภาเสียก่อน

และอย่างที่ทุกท่านทราบกันก็คือ กว่าที่กฎหมายฉบับนี้จะคลอดออกมาเป็น พ.ร.บ. คุ้มครองส่วนบุคคลได้ก็ในปี 2562 ซึ่งรวมเวลาทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นร่างจนผ่านออกมาเป็นกฎหมายได้ก็ใช้เวลาไปทั้งสิ้น 21 ปี 

เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อกฎหมายออกมาแล้วก็ต้องให้หน่วยงานต่าง ๆ มีการเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ กฎหมายจึงให้เวลาอีก 1 ปี กว่าที่จะมีผลใช้บังคับ 

ปรากฏว่าเมื่อใกล้จะครบ 1 ปี คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ก็ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งออกมา ทำให้กฎหมายลูกของ พ.ร.บ. ดังกล่าวก็ยังร่างไม่เสร็จ ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ขอให้รัฐบาลเลื่อนการบังคับใช้ไปอีก 1 ปี

จนแล้วจนรอด เมื่อใกล้ถึงวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ที่กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะมีผลใช้บังคับเต็มรูปแบบ ครม. ก็มีมติให้เลื่อนการบังคับใช้ไปอีก 1 ปี เท่ากับว่าตั้งแต่เริ่มต้นร่างจนถึงวันที่จะเริ่มมีผลใช้บังคับจริงในปี 2565 (ถ้าไม่ถูกเลื่อนอีกรอบ) รวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 24 ปีเลยทีเดียว 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออกไปรอบล่าสุด แต่กระทรวงดิจิทัลฯ ก็ได้มีการประกาศมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลออกมาแล้ว

ดังนั้น ผู้ที่ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controller) ซึ่งก็คือ ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ก็ต้องมีหน้าที่ตามมาตรฐานดังกล่าวด้วย เช่น ต้องมีการกำหนดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล (Access Control) ให้มีความเหมาะสม ไม่ใช่ว่าทุกคนในหน่วยงานสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของคนอื่นได้ตามอำเภอใจ คนที่จะเข้าถึงข้อมูลได้ต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรง เป็นต้น

นอกจากนี้ เรายังมีกฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วยเช่นกัน เช่น พ.ร.บ. การประกอบข้อมูลเครดิต พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ ฯลฯ ซึ่งหน่วยงานหรือองค์กรใดที่อยู่ภายใต้การกำกับกฎหมายนั้น ๆ ก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวด้วยเช่นกัน

สำหรับหน่วยงานหรือบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ถ้าถามว่าระหว่างรอกฎหมายบังคับใช้ในอีก 1 ปีข้างหน้าจะต้องทำอย่างไรดี ผมก็ขอแนะนำให้เริ่มศึกษาและดำเนินการไปได้เลยครับ เพราะตอนนี้ผมคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ตระหนักและเข้าใจถึงความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองแล้ว 

การที่หน่วยงานเราให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลของลูกค้าหรือบุคคลที่มาใช้บริการของหน่วยงานเรานั้น ย่อมทำให้เราได้รับความไว้วางใจจากบุคคลดังกล่าวด้วย 

ถ้าไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ผมก็แนะนำให้ดูจากแนวทางของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรปที่ชื่อว่า “General Data Protection Regulation (GDPR)” ซึ่งประเทศไทยเราใช้เป็นแนวทางในการร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฉบับปัจจุบัน หรือ ไม่ก็ลองอ่าน “แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล Version 3.0 ที่จัดทำโดยศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามลิงค์นี้ก็ได้ครับ https://www.law.chula.ac.th/wp-content/uploads/2020/12/TDPG3.0-C5-20201224.pdf

และเดี๋ยวตอนที่กฎหมายฉบับนี้จะเริ่มใช้บังคับจริงในปีหน้า ผมจะมาเขียนอธิบายถึงสิทธิหน้าที่ของเจ้าของข้อมูล และผู้ที่เก็บรวบรวม หรือใช้ข้อมูลส่วนบุคคลให้ได้อ่านกันอีกทีนะครับ อย่าลืมติดตามเข้ามาอ่านกันได้
 

โทเคนดิจิทัล ทางเลือกใหม่ของการลงทุนในยุคดิจิทัล

วันก่อนมีประเด็นร้อนในกรุ๊ปฝากร้านของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เมื่อศิษย์เก่าท่านหนึ่งประกาศขายที่ของที่บ้านพร้อมบังกะโลบนเกาะมูลค่ารวมประมาณ 350 ล้านบาท ต่อมามีศิษย์เก่าอีกท่านเสนอไอเดียชวนคนในกรุ๊ปที่มีอยู่เกือบ ๆ สองแสนคนมาลงขันซื้อเกาะกัน โดยลงหุ้นกันคนละ 3,500 บาท แค่แสนคนก็ได้เป็นเจ้าของเกาะดังกล่าวแล้ว

ปรากฏว่ามีมีคนสนใจไอเดียดังกล่าวจำนวนมาก และอยากร่วมหุ้นด้วย โดยขอลง 1 หุ้นบ้าง 10 หุ้นบ้าง หรือ 100 หุ้นก็มี แต่สุดท้ายโปรเจคดังกล่าวก็ต้องพับไป เพราะมีประเด็นว่าที่ดินที่ประกาศขายอาจมีส่วนที่ทับซ้อนกับพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ

แม้ว่าโปรเจคจะล่มไปแล้ว แต่ก็มีประเด็นที่น่าสนใจ ที่ผมอยากให้ลองจินตนาการต่อว่า ถ้าเกิดโปรเจคดังกล่าวสามารถไปต่อได้ เราจะใช้วิธีการไหนในการระดมทุนคนจำนวนมาก ๆ แบบนี้กันดี

บางท่านอาจจะเสนอให้ตั้งเป็นบริษัทแล้วขายหุ้นให้ทุกคนที่อยากลงทุนเลย อ่านดูแล้วเหมือนง่าย แต่ลองคิดภาพตามดูนะครับ

ถ้าโปรเจคนี้สำเร็จแล้วมีคนลงขันซื้อหุ้นหลายหมื่นคน ทุกปีเราต้องเชิญผู้ถือหุ้นมาร่วมประชุมสามัญประจำปี แค่หาสถานที่จัดการประชุมก็ยากแล้ว แต่ที่ยากกว่าคือการเชิญคนมาประชุมให้ครบองค์ประชุม แค่ประชุมนิติบุคคลของคอนโดหรือหมู่บ้าน ยังยากเลย แล้วนี่ต้องเชิญคนมาร่วมประชุมเป็นหมื่นคน จะยากและวุ่นวายขนาดไหน

แล้วแบบนี้เราจะระดมทุนกันอย่างไรดี ถ้าเกิดมีโปรเจคที่น่าสนใจ และคนอยากร่วมลงทุนเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ คน

ความจริงผมได้ไปเกริ่นไว้ในกรุ๊ปดังกล่าวก่อนที่โปรเจคจะล่มไปแล้วว่า โปรเจคระดมทุนเพื่อเข้าไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์แบบนี้ เราสามารถระดมทุนโดยการออกเหรียญหรือโทเคนดิจิทัลเพื่อไปลงทุนได้ แถมผู้ลงทุนยังได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอีกด้วย

เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พึ่งมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อกำกับดูแลการออกเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ (real estate-backed ICO) และเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมานี้เอง

แล้วไอ้เจ้าโทเคนดิจิทัลที่ผมกล่าวถึงนั้นคืออะไร มันเหมือนหรือคล้ายกับบิตคอยน์ (Bitcoin) ที่คนพูดถึงกันเยอะ ๆ หรือไม่ ลองติดตามอ่านกันดูนะครับ

ก่อนอื่น ผมต้องปูพื้นให้ทุกท่านเข้าใจเสียก่อนว่าตามกฎหมายในประเทศไทยของเราแบ่งสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1.) คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือ สกุลเงินดิจิทัลที่เราสามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ ไม่ต่างจากเงินจริง ๆ หากผู้ใช้ทั้งสองฝ่ายตกลงยอมรับกัน ซึ่งสกุลเงินดิจิทัลในโลกเราปัจจุบันนี้มีหลายพันสกุลแล้ว แต่ที่หลายคนรู้จักกันดี ก็เช่น บิตคอยน์ (Bitcoin) อีเธอร์เลียม (Ethereum)

2.) โทเคนดิจิทัล (Digital Token) หรือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการร่วมลงทุน (Investment Token) หรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือ สิทธิอื่น ๆ (Utility Token) ตามที่ผู้ออกโทเคนได้ตกลงไว้ ซึ่งการเสนอขายโทเคนนั้นจะทำโดยกระบวนที่เรียกว่า “Initial Coin Offering” หรือ ICO

ดังนั้น โทเคนดิจิทัลนั้นจึงไม่เหมือนกับบิตคอยน์เสียทีเดียว เพราะ บิตคอยน์เป็นเพียงสกุลเงินหนึ่งในโลกดิจิทัล มูลค่าของบิตคอยน์จะขึ้นอยู่กับอุปสงค์อุปทานเป็นหลัก แต่โทเคนดิจิทัลที่ใช้เพื่อใช้ในการร่วมลงทุนนั้น มูลค่าของโทเคนจะขึ้นอยู่กับมูลค่าของทรัพย์สินหรือกิจการที่เข้าไปลงทุน

ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพมากขึ้น การออกโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) จะคล้ายกับการตั้งกองทุนรวมเพื่อเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ต่างกันที่ ผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมจะได้รับเอกสารแสดงสิทธิในหน่วยลงทุนมาเป็นหลักฐานว่าตนเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว แต่ผู้ที่ลงทุนในโทเคนดิจิทัลก็จะได้รับ โทเคน (Token) หรือ เหรียญ (Coin) มาเป็นหลักฐานว่าตนได้เข้าร่วมลงทุนในโปรเจคนั้น ๆ ด้วย

การที่ออกโทเคนดิจิทัลเพื่อเข้าไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนประเภทหนึ่ง ที่ต้องถูกกำกับดูแลโดยสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งอย่างน้อยก็จะทำให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่าโทเคนดิจิทัลที่เสนอขายนั้นมีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์จริง ผู้ออกโทเคนดิจิทัลไม่ใช่พวกต้มตุ๋น หรือ เป็นขบวนการแชร์ลูกโซ่

แต่สำนักงาน ก.ล.ต. ก็ไม่ได้มีหน้าที่รับรองว่าโทเคนดิจิทัลนั้นจะมีกำไรนะครับ อันนั้นเป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนจะต้องศึกษารายละเอียดเองว่าการลงทุนดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะดีหรือไม่ หรือมีความเสี่ยงอะไรบ้าง

เช่น ถ้าผมจะซื้อโทเคนดิจิทัลที่ไปลงทุนในธุรกิจโรงแรม ผมก็ต้องศึกษาก่อนว่าโรงแรมที่จะเข้าไปลงทุนนั้นมีกี่ห้อง ราคาค่าห้องเฉลี่ยต่อคืนเท่าไหร่ อัตราการเข้าพักที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ความเสี่ยงของธุรกิจโรงแรมคืออะไร เป็นต้น เพราะมูลค่าของโทเคนดิจิทัลที่ผมจะซื้อนั้นจะผันแปรตามกำไรจากธุรกิจโรงแรมดังกล่าว

สมมุติถ้าผมซื้อมาโทเคนละ 100 บาท แล้วปีต่อมาเกิดวิกฤตโควิด แปลว่าโรงแรมก็จะไม่มีรายได้เลย ราคาโทเคนที่ผมซื้อมาอาจจะตกเหลือเพียง 50 บาทก็ได้ แต่ถ้าเกิดโควิดหมดไป นักท่องเที่ยวที่กลับมาเที่ยวได้ตามปกติ โทเคนนั้นก็อาจจะกลับมาราคา 100 บาทตามเดิมหรือมากกว่าเดิมก็ได้ขึ้นอยู่กับผลประกอบการในปีนั้น ๆ ว่าจะจ่ายเงินปันผลให้ผู้ลงทุนเท่าไหร่

นอกจากนี้ ตามเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ยังกำหนดให้ผู้ที่เสนอขายโทเคนดิจิทัล (Issuer) ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุนนั้นให้กับทรัสตี (Trustee) หรือ ผู้ดูแลผลประโยชน์ด้วย

ซึ่งทรัสตีนั้นจะทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลประโยชน์ให้กับนักลงทุนที่ถือโทเคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการติดตามดูแลให้ผู้ออกเสนอขายโทเคนบริหารจัดการทรัพย์สินให้ดีเหมือนที่ได้ระบุไว้ในโครงการตอนเสนอขาย หรือคอยดูว่าผู้ออกเสนอขายโทเคนมีการดำเนินการใด ๆ ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ รวมทั้งคอยเข้าประชุมติดตามผลการดำเนินงานแทนผู้ถือโทเคนทุกคนอีกด้วย

แต่ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ทุกประเภทจะนำมาระดมทุนเสนอขายเป็นโทเคนดิจิทัลได้นะครับ

เนื่องจากหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดว่าทรัพย์สินที่จะเสนอขายได้นั้นจะต้องเป็น อสังหาริมทรัพย์ หรือ หุ้นของนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ที่ถือครองอสังริมทรัพย์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของสิทธิออกเสียงใน SPV นั้น หรือ สิทธิการเช่าในอสังหาริมทรัพย์

โดยทรัพย์สินดังกล่าวจะต้องสร้างเสร็จแล้ว 100% ไม่ใช่สร้าง ๆ อยู่จะมาขอระดมทุนออกโทเคนแบบนี้ไม่ได้ และเงื่อนไขอีกข้อก็คือ การลงทุนนั้นจะต้องลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของทั้งโครงการ หรือ การลงทุนนั้นต้องมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในการเสนอขายโทเคนดิจิทัล สำนักงาน ก.ล.ต. มีข้อกำหนดว่าผู้ลงทุนรายย่อยจะลงทุนได้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อการเสนอขายในครั้งนั้นเท่านั้น ต่างจากการลงทุนในกอง REIT ที่ผู้ลงทุนรายย่อยจะลงทุนเท่าไหร่ก็ได้ครับ

เป็นอย่างไรบ้างครับสำหรับข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการลงทุนในโทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ (real estate-backed ICO) ที่จะเป็นสินทรัพย์ลงทุนรูปแบบใหม่ในยุคดิจิทัล ซึ่งตอนนี้ผมก็แอบทราบมาว่ามีบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บางแห่งกำลังเตรียมการเพื่อยื่นขออนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายโทเคนดิจิทัลประเภทนี้ให้ได้ภายในปีนี้

แม้ว่าโปรเจคซื้อเกาะจะไม่สำเร็จ แต่ก็ถือว่าหลายคนน่าจะได้ประโยชน์จากการเรียนรู้เรื่องการระดมทุนและลงทุนในยุคดิจิทัลกันไม่มากก็น้อย ก่อนที่ประเทศไทยของเราจะเริ่มมีโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนออกให้มาซื้อขายกันจริง ๆ


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

ก้าวแรกกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ

ปี 2564 นี้เป็นปีที่ประเทศไทยของเราจะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society)” คือมีประชากร “ผู้สูงอายุ” หรือคนที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ แต่ประเทศไทยของเรายังขาดความพร้อมอีกหลายด้านในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนี้ เช่น การขาดแคลนแรงงานในบางสาขาอาชีพ ระบบสาธารณูปโภคที่รองรับผู้สูงวัย รัฐสวัสดิการของผู้สูงอายุ เป็นต้น

ปัญหาใหญ่เรื่องหนึ่งที่เราพูดกันมานาน แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ก็คือ เงินที่จะใช้ในการดำรงชีพของผู้สูงวัยที่เกษียณจากการทำงาน ที่มีแนวโน้มว่าผู้สูงอายุหลายคนจะมีเงินไม่พอใช้ไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

หลายครอบครัวจึงส่งเสริมให้ลูกหลานไปสอบบรรจุเป็นข้าราชการ เพราะแม้ว่าเงินเดือนจะไม่มาก แต่มีความมั่นคงในอาชีพสูง และที่สำคัญ คือ เมื่อเกษียณอายุ รัฐก็เลี้ยงดูโดยการจ่ายเงินบำนาญให้จนกว่าจะลาโลกนี้ไป

ต่างจากการทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทเอกชน ที่มีเพียงเงินบำนาญหลังเกษียณจาก “กองทุนประกันสังคม” เพียงไม่กี่พันบาทต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะเพียงพอต่อค่าครองชีพในอนาคตแน่นอน

ถ้าบริษัทไหนที่มีสวัสดิการดีหน่อย นายจ้างก็อาจจะมีการจัดตั้ง “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ทำให้ลูกจ้างมีโอกาสได้รับเงินก้อนหลังจากเกษียณมาจำนวนหนึ่งด้วย

โดยเจ้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้เกิดจากการหักเงินเดือนของลูกจ้างส่วนหนึ่งมาจ่ายสะสมเข้าไปในกองทุน และนายจ้างก็จะจ่ายเงินสมทบให้กับลูกจ้างในทุกเดือน ๆ ด้วย หลังจากนั้นผู้จัดการกองทุนก็จะนำเงินเหล่านั้นไปลงทุนเพื่อให้เงินในกองทุนนั้นงอกเงยขึ้นมา และเมื่อถึงวันที่ลูกจ้างเกษียณ ก็จะได้รับเงินคืนทั้งส่วนที่หักจากเงินเดือนของเรา ทั้งในส่วนของเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบให้ และในส่วนของดอกผลที่ได้รับมาจากการลงทุนด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกบริษัทจะมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะกฎหมายปัจจุบัน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นภาคสมัครใจ คือ นายจ้างรายใดสมัครใจตั้ง ก็ตั้งได้ รายใดไม่อยากตั้ง ก็ไม่ต้องตั้ง ดังนั้น ไม่ใช่ลูกจ้างทุกรายในภาคเอกชนที่จะได้รับเงินบำเหน็จหลังเกษียณจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยังมีลูกจ้างในภาคเอกชนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับสวัสดิการแบบนี้

ทำให้มีเสียงเรียกร้องและพูดคุยกันมาหลายปีแล้วถึง “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ” โดยหวังว่าลูกจ้างในภาคเอกชนทุกรายจะมีเงินใช้อย่างเพียงพอภายหลังการเกษียณ ไม่ว่าจะเลือกรับไปในรูปแบบของเงินบำเหน็จ หรือเงินบำนาญ

ล่าสุดคณะรัฐมนตรีก็ได้มติเห็นชอบ (ร่าง) พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) แล้ว เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมานี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับทันที เพราะยังต้องผ่านกระบวนการของสภาผู้แทนราษฎรอีกยาวไกล กว่าจะประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายได้

แต่อย่างน้อย ก็ถือว่าเราได้เริ่มต้นนับหนึ่งแบบเป็นทางการแล้วสำหรับ “กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ”

ทั้งนี้ ร่างกฎหมาย กบช. นี้มีหลักการสำคัญที่จะนำไปใช้ในการพิจารณาร่างเป็นกฎหมายต่อไป ดังนี้

1.) กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาตินี้ จะถือเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ โดยลูกจ้างในภาคเอกชนทุกรายที่มีอายุตั้งแต่ 15 – 60 ปี และนายจ้างไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ จะถูกบังคับให้เข้ามาเป็นสมาชิกของ กบช. ทุกราย แต่ถ้านายจ้างที่ใดมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว ลูกจ้างก็จะเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงของนายจ้างได้ต่อไปตามปกติ

2.) ลูกจ้างที่เข้ามาเป็นสมาชิก กบช. แล้ว จะถูกหักเงินจากเงินเดือนส่งเข้ากองทุนในอัตราดังนี้

- ทำงานปีที่ 1 – 3 จะถูกหักเงินสะสมไม่น้อยกว่า 3% ของค่าจ้าง เช่น เราได้เงินเดือน 20,000 บาท ก็จะถูกหักเงินเดือน 20,000 x 3% = 600 บาท ส่งเข้ากองทุน

- ทำงานปีที่ 4 – 6 จะถูกหักเงินสะสมไม่น้อยกว่า 5% ของค่าจ้าง เช่น เราได้เงินเดือน 20,000 บาท ก็จะถูกหักเงินเดือน 20,000 x 5% = 1,000 บาท ส่งเข้ากองทุน

 - ทำงานปีที่ 7 - 9 จะถูกหักเงินสะสมไม่น้อยกว่า 7% ของค่าจ้าง เช่น เราได้เงินเดือน 20,000 บาท ก็จะถูกหักเงินเดือน 20,000 x 7% = 1,400 บาท ส่งเข้ากองทุน

- ทำงานปีที่ 10 เป็นต้นไป จะถูกหักเงินสะสมไม่น้อยกว่า 10% ของค่าจ้าง เช่น เราได้เงินเดือน 20,000 บาท ก็จะถูกหักเงินเดือน 20,000 x 10% = 2,000 บาท ส่งเข้ากองทุน

3.) เมื่อลูกจ้างจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนแล้ว ฝ่ายนายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนด้วยเช่นกัน เช่น เราเป็นลูกจ้าง ถูกหักเงินเดือน 600 บาทเข้ากองทุนนี้ นายจ้างที่จ่ายเงินเดือนให้เราก็จะถูกบังคับให้จ่ายเงิน 600 บาทไปออมเพิ่มให้เราด้วย หมายความว่าเราโดนหักเงินแค่ 600 บาท แต่เราได้เงินออมในกองทุนถึง 1,200 บาทเลยทีเดียว

4.) อย่างไรก็ตาม ลูกจ้างที่มีเงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท จะได้รับการยกเว้น โดยเข้าเป็นสมาชิก กบช. แต่ไม่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนแต่อย่างใด แต่ฝ่ายนายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนนี้แทน เช่น เราเริ่มทำงานปีแรกได้เงินเดือน 8,000 บาท ความจริงควรจะถูกหัก 3% เข้ากองทุน แต่กฎหมายฉบับนี้ยกเว้นให้ แต่ในส่วนของนายจ้างไม่ได้รับการยกเว้น ก็ยังคงต้องจ่ายเงินสมทบ 8,000 x 3% = 240 บาท เข้าไปเป็นเงินออมให้เรา

5.) เงินค่าจ้างที่จะถูกนำมาคำนวณเพื่อหักเข้ากองทุนสูงสุดนั้นจะอยู่ที่อัตรา 60,000 บาท เช่น ลูกจ้างทำงานมาแล้ว 20 ปี มีเงินเดือน 100,000 บาท โดยหลักแล้วจะต้องถูกหักเงิน 10% เข้ากองทุน เพราะอายุงานเกินกว่า 10 ปี แต่ในการนำเงินส่งเข้ากองทุน ลูกจ้างรายนี้จะถูกหักเงินเพื่อนำส่งเข้ากองทุนเพียง 60,000 x 10% = 6,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น

6.) เงินสะสมของลูกจ้าง และเงินสมทบของนายจ้างที่ถูกส่งเข้าไปในกองทุนนี้ กบช. จะนำไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวให้กับลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างอายุครบ 60 ปี ก็จะได้รับเงินคืน โดยสามารถเลือกได้ 2 รูปแบบ คือ รับเป็นเงินบำเหน็จก้อนเดียว หรือ รับเป็นเงินบำนาญรายเดือนไป 20 ปี

จะเห็นได้ว่า กบช. นี้จะเป็นการบังคับลูกจ้างในภาคเอกชนให้ออมเงินเพื่อการเกษียณ และเมื่อเกษียณแล้วลูกจ้างก็จะสามารถเลือกรับเงินบำเหน็จ หรือ บำนาญก็ได้ โดยรัฐบาลหวังว่าเงินออมเหล่านี้จะช่วยให้ลูกจ้างมีเงินเพื่อการดำรงชีพต่อไปได้ภายหลังการเกษียณ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากครับ

แม้ว่าหลักการของกฎหมายฉบับนี้จะออกมาดูดีมีประโยชน์ แต่ยังมีเรื่องที่รัฐบาลจะต้องไปทำการบ้านต่ออีกมาก เพราะ ปัจจุบันบ้านเรามีกองทุนเพื่อการออมหรือเพื่อการเกษียณจำนวนมาก เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนเงินออมแห่งชาติ (กบช.) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งบางกองทุนเป็นแบบสมัครใจ บางกองทุนก็เป็นแบบบังคับ ทำให้มีความซ้ำซ้อนอยู่มาก

ยกตัวอย่างเช่น ลูกจ้างที่ทำงานในบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว เมื่อลาออกแล้วย้ายไปทำงานบริษัทใหม่ ปรากฏว่าบริษัทนั้นไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างรายนั้นก็จะถูกบังคับให้เข้าไปเป็นสมาชิก กบช. แล้วแบบนี้จะมีการโอนย้ายเงินและนับอายุกันต่อไปอย่างไร

หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างสามารถขอรับคืนทั้งก้อนได้ตอนสิ้นสุดสัญญาจ้าง แต่กองทุน กบช. ลูกจ้างจะมีสิทธิได้เงินตอนอายุ 60 ปีเท่านั้น ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในทางปฏิบัติของสมาชิกกองทุนทั้งสอง รัฐบาลก็จะต้องออกกฎหมายมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วย

รวมทั้งระบบข้อมูลสมาชิกกองทุนต่าง ๆ ที่จะต้องบูรณาการเข้ามาไว้ด้วยกัน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการออมข้ามไปมาระหว่างกองทุน

ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้รัฐบาลและภาคเอกชนจะต้องร่วมกันศึกษาและเตรียมการกันอีกปีสองปีกว่าจะออกมาใช้บังคับได้จริง แต่ถึงอย่างไร การที่ร่างกฎหมาย กบช. นี้ผ่าน ครม. ออกมาได้แล้ว ก็ถือเราได้ออกเดินก้าวแรกแล้ว แต่ไม่ว่าหนทางจะยาวไกลสักเพียงใดถึงจะถึงจุดหมาย มันก็ต้องเริ่มต้นที่ก้าวแรกเสมอ ดังสุภาษิตจีนที่ว่า “หนทางหมื่นลี้ เริ่มต้นที่ก้าวแรก”

ดอกแบบเบี้ยใหม่ ได้ใจลูกหนี้เต็ม ๆ

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา หลายท่านอาจจะเห็นข่าวหนึ่งที่น่าสนใจ คือ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุงเรื่องดอกเบี้ยในรอบเกือบ ๆ 100 ปีนับแต่ที่ ป.พ.พ. เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468

โดยสาระสำคัญของการแก้ไขดังกล่าว คือ การปรับลดดอกเบี้ยในกรณีที่คู่สัญญาไม่ได้ตกลงกันไว้จากร้อยละ 7.5 ต่อปี เหลือเพียงร้อยละ 3 ต่อปี และปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดจากร้อยละ 7.5 ต่อปี เหลือเพียงร้อยละ 5 ต่อปี รวมทั้งเปลี่ยนวิธีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดให้คิดบนฐานของเงินต้นที่ผิดนัดจริง ไม่รวมส่วนของเงินต้นหรือค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

แต่ลูกหนี้ทั้งหลายอย่าพึ่งดีใจไปนะครับ เพราะ กฎหมายดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับในตอนนี้ เพราะหลังจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การนำร่างกฎหมายนั้นเข้าไปสู่กระบวนการพิจารณาของดังกล่าวยังต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีก 3 วาระ แล้วหลังจากนั้นถึงจะมีผลเป็นกฎหมายออกมาให้เราได้ใช้กัน ซึ่งน่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. จะยังไม่มีผลใช้บังคับ แต่เมื่อปีที่แล้ว (2563) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้ออกประกาศ เรื่อง การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ ออกมาโดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2563 แล้ว

แปลว่า การกู้ยืมเงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินใด ๆ ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. จะต้องปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวแล้ว ไม่ต้องรอให้สภาผู้แทนมีมติแก้ไข ป.พ.พ. แต่อย่างใด

สาระสำคัญของประกาศ ธปท. นั้นจะคล้ายกับร่างแก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. นั่นแหละครับ คือ มีการปรับปรุงแก้ไขวิธีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ใหม่ให้สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบัน รวมถึงกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ให้มีความเป็นธรรมกับลูกหนี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งประกาศของ ธปท. ดังกล่าวจะมีแนวปฏิบัติที่สำคัญ 3 เรื่อง ดังนี้ครับ

หนึ่ง การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 เม.ย. 64) ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะ “ต้องคิดบนฐานของเงินต้นที่ผิดนัดจริง” ห้ามนำเงินต้นที่คงค้างทั้งหมด หรือเงินค่างวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระเข้ามารวมเพื่อคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าว

มาลองดูตัวอย่างกันครับ สมมุติว่านายสมชายกู้เงินซื้อบ้าน 5 ล้านบาท กำหนดผ่อนชำระ 20 ปี คิดดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 8 ต่อปี ตกลงค่างวดไว้ 42,000 บาทต่อเดือน ปัจจุบันนายสมชายผ่อนชำระไปแล้ว 24 งวด งวดที่ 25 เกิดผิดนัด และมาชำระล่าช้าไป 1 เดือน ทั้งนี้ ในสัญญาได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดไว้ร้อยละ 10 ต่อปี นายสมชายจะต้องชำระหนี้ดอกเบี้ยผิดนัด ดังนี้

ภาพจาก bot.or.th

แบบเดิม แม้นายสมชายผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่ง แต่ธนาคารจะถือว่านายสมชายผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาทั้งหมด การคิดดอกเบี้ยผิดนัดนั้น ธนาคารจะนำเงินต้นคงค้างทั้งหมดมาคิดดอกเบี้ยจากนายสมชาย เช่นกรณีนี้ นายสมชายยังเหลือหนี้เงินต้นอีก 4.77 ล้านบาท นายสมชายจะต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 10 ต่อปี จากยอดเงินต้น 4.77 ล้านบาท

ดังนั้น นายสมชายจะต้องชำระเงินดอกเบี้ยผิดนัด 1 เดือน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น

                                     4,770,000 x 2% x 30/365 = 7,841.10 บาท

และเมื่อรวมกับดอกเบี้ยค้างชำระในงวดที่ 25 นายสมชายจะต้องชำระดอกเบี้ยรวม 32,000 + 7,841.10 = 39,841.10 บาท

แบบใหม่ ตามประกาศของ ธปท. ที่แก้ไขใหม่ ธนาคารจะไม่สามารถนำเงินต้นคงค้าง 4.77 ล้านบาทมาคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ ธนาคารจะต้องพิจารณาก่อนว่าในงวดที่ 25 ที่นายสมชายผิดนัดชำระหนี้นั้น งวดดังกล่าวมีเงินต้นที่นายสมชายจะต้องชำระอยู่เท่าไหร่ แล้วหลังจากนั้นธนาคารค่อยเงินต้นในงวดดังกล่าวมาคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้

จากตัวอย่าง งวดที่ 25 ที่นายสมชายผิดนัดชำระหนี้นั้น ความจริงแล้วมีเงินต้นที่ค้างชำระเพียง 10,000 บาท แปลว่าธนาคารจะคิดดอกเบี้ยผิดนัดกับนายสมชายได้เพียง

                                           10,000 x 2% x 30/365 = 16.44 บาท

และเมื่อรวมกับดอกเบี้ยค้างชำระในงวดที่ 25 นายสมชายจะต้องชำระดอกเบี้ยรวม 32,000 + 16.44 = 32,016.44 บาท แปลว่าตามประกาศใหม่ของ ธปท. นายสมชายจะสามารถประหยัดดอกเบี้ยผิดนัดลงได้เกือบ ๆ 8 พันบาทเลยทีเดียว

สอง ปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ก.ค. 64) ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้แค่ “อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกิน 3%” เท่านั้น ไม่สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดได้เองอีกต่อไป

สมมุติว่านายสมชายกู้เงินธนาคาร 1 แสนบาท โดยตกลงดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ร้อยละ 8 ต่อปี หากนายสมชายผิดนัดชำระหนี้

ภาพจาก bot.or.th

แบบเดิม ธนาคารสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดชำระหนี้เท่าไหร่ก็ได้ แต่ต้องไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด เช่น ธนาคารอาจกำหนดไว้ที่อัตราร้อยละ 15 ต่อปี ก็ได้

แบบใหม่ ตามประกาศของ ธปท. ที่แก้ไขใหม่ ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวก 3% ดังนั้นในกรณีตามตัวอย่างที่ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นายสมชายไว้ร้อยละ 8 ต่อปี ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดจากนายสมชายได้สูงสุดเพียงร้อยละ 8 + 3 = 11 ต่อปีเท่านั้น

สาม กำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ (เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ก.ค. 64) ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะ “ต้องตัดชำระค่างวดที่ค้างขำระนานที่สุดเป็นลำดับแรก” ไม่ใช่นำเงินที่ชำระเข้ามาไปตัดค่าธรรมเนียม ตามด้วยดอกเบี้ยก่อน แล้วค่อยนำส่วนที่เหลือไปตัดเงินต้นแบบในอดีต

ตัวอย่างเช่น นายสมชายขอสินเชื่อส่วนบุคคลจากธนาคาร และตกลงกันชำระเงินค่างวดกัน 10,300 บาทต่อเดือน โดยค่างวด 10,300 บาทนั้น ความจริงแล้วเป็นการชำระคืนเงินต้น 6,000 บาท ดอกเบี้ย 4,000 บาท และค่าธรรมเนียม 300 บาท หากนายสมชายค้างชำระ 3 งวด แล้วนำเงินมาชำระ 10,300 บาท

ภาพจาก bot.or.th

แบบเดิม ธนาคารจะนำเงิน 10,300 บาทนั้นไปชำระค่าธรรมเนียมที่ค้าง 3 งวดก่อน จากนั้นนำเงินส่วนที่เหลือไปชำระดอกเบี้ย และถ้ามีเหลือถึงจะไปชำระคืนเงินต้น

                             เงินที่นายสมชายชำระเข้ามา                   10,300 บาท

                             ชำระค่าธรรมเนียม 3 งวด                     10,300 – (300 x 3)   =   9,400 บาท

                             ชำระดอกเบี้ยที่ค้าง 3 งวด                     9,400 – (4,000 x 3)  = - 2,600 บาท

แปลว่าเงิน 10,300 บาทนั้นจะชำระได้เพียงค่าธรรม 900 บาท และดอกเบี้ย 9,400 บาทเท่านั้น นายสมชายยังคงค้างดอกเบี้ยอีก 2,600 บาท และที่สำคัญ คือ เงินที่นายสมชายชำระเข้ามาดังกล่าว ไม่ได้ไปชำระคืนเงินต้นเลยแม้แต่บาทเดียว

แบบใหม่ ธนาคารจะต้องนำเงิน 10,300 บาท นั้นไปชำระค่างวดที่ค้างชำระเก่าที่สุดก่อน ซึ่งค่างวดนั้นจะหมายความรวมถึงค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้น

แปลว่าตามประกาศ ธปท. ฉบับใหม่ เงิน 10,300 บาทที่นายสมชายจ่ายเข้ามานั้นจะไปชำระค่าธรรมเนียม 300 บาท ดอกเบี้ย 4,000 บาท และเงินต้น 6,000 บาท ของงวดเก่าสุดที่ค้างอยู่ ซึ่งจะต่างจากแบบเดิมที่เงิน 10,300 บาท ของนายสมชายจะไม่ถูกนำไปชำระคืนเงินต้นเลย

จะเห็นได้ว่าประกาศของ ธปท. ฉบับใหม่นี้ช่วยให้ลูกหนี้มีโอกาสชำระหนี้คืนได้มากขึ้น ไม่เจอสภาวะหนี้สินแบบดินพอกหางหมู ที่ชำระเข้าไปเท่าไหร่ เงินนั้นก็ถูกนำไปชำระแต่ค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ย โดยเงินต้นไม่ลดลงเลย ทำให้ไม่รู้ว่าจะสามารถชำระหนี้คืนทั้งหมดได้เมื่อไหร่ และสุดท้ายก็อาจถูกฟ้องบังคับยึดทรัพย์สิน หรือต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลายไป

สุดท้ายนี้ ผมก็ต้องขอฝากท่านผู้อ่านเอาไว้ว่า แม้กฎหมายจะออกมาช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ เราจะต้องไม่ก่อหนี้เกินตัว และเมื่อมีหนี้แล้วเราก็ต้องมีวินัยในการชำระหนี้คืนด้วย เพราะปัญหาหนี้สินนั้นเป็นปัญหาใหญ่ของคนจำนวนมากจริง ๆ

ศึกษาประกาศ ธปท. เพิ่มเติมได้ที่ https://www.bot.or.th/Thai/FIPCS/Documents/FPG/2563/ThaiPDF/25630272.pdf

ก๊อป MV : ‘แรงบันดาลใจ’ หรือ ‘ลอกเลียนแบบ’

เมื่อวันก่อนผมไปจัดวงเสวนาในคลับเฮาส์ (Clubhouse) พูดคุยกับช่างภาพและผู้ผลิตคอนเทนต์เรื่องปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ และช่วงท้ายก็เปิดโอกาสให้คนฟังได้ขึ้นมาสอบถามกันได้แบบสดๆ

หนึ่งในคำถามที่น่าสนใจ คือ “การถ่ายมิวสิควิดีโอ หรือ MV แล้วมีฉากต่างๆ คล้ายกับ MV ของคนอื่น ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่”

ตอนที่ผมและผู้ร่วมวงเสวนาตอบคำถามนี้ไป ก็สงสัยว่าทำไมมีคนสนใจถามเรื่องการก๊อป MV หลายคน จนกระทั่งหลังจบวงเสวนาในคลับเฮาส์ เพื่อนผมคนหนึ่งได้ส่งข้อความมาบอกผมหลังไมค์ว่า เรื่องก๊อป MV นี้ กำลังเป็นประเด็นร้อนในโซเชียลมีเดียเลย น่าเอามาเขียนอธิบายแบบง่ายๆ ให้คนนอกคลับเฮาส์ได้เข้าใจกันได้ด้วย

ผมก็เลยหยิบเรื่องก๊อป MV กับกฎหมายลิขสิทธิ์มาเขียนเป็นประเดิมในคอลัมน์ของผมเสียเลย

ก่อนที่เราจะบอกว่า MV ที่ทำเลียนแบบนั้น ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ เราก็ต้องเข้าใจเสียก่อนว่างานอันมีลิขสิทธิ์นั้นหมายถึงงานแบบใดบ้าง และกฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง MV นั้นอย่างไร

โดยหลักการการสำคัญของงานที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ทั้งของไทยและสากลมี 2 ข้อที่เหมือนกัน คือ หนึ่ง งานนั้นจะต้องเป็นงานที่ริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยตนเอง (Originality) และ สอง งานนั้นจะต้องมีการแสดงออกซึ่งความคิด (Ex-pression of idea)

มาว่ากันที่หลักการแรกกันก่อน ที่บอกว่างานนั้นจะต้องเป็นงานที่ริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยตนเอง อธิบายแบบง่าย ๆ คือ งานนั้นจะต้องเกิดจากความคิดของตนเอง แต่ก็ไม่จำเป็นว่างานนั้นจะต้องเป็นสิ่งใหม่ หรือไม่เคยมีมาก่อนในโลก เพียงแต่ผู้สร้างสรรค์งานนั้นจะต้องทุ่มเทความรู้ความสามารถ ความชำนาญ ทักษะ สติปัญญาของผู้สร้างสรรค์ลงไปในงานดังกล่าวพอสมควรด้วย

ตัวอย่างเช่น เราเห็นภาพถ่ายที่จุดชมวิวแห่งหนึ่งสวยมาก เราก็อาจจะได้แรงบันดาลใจให้ไปถ่ายภาพนั้นออกมาเหมือนกัน แม้ว่าเราจะไม่ได้ถ่ายภาพจุดชมวิวนั้นเป็นคนแรก แต่เราก็ได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการลงมือลงแรงไปที่จุดชมวิวนั้น และกดชัตเตอร์ถ่ายรูปออกมา แบบนี้เราก็ได้รับความคุ้มครองในส่วนของภาพที่เราถ่าย แม้ว่าภาพนั้นจะคล้ายกับภาพจุดชมวิวที่คนอื่นถ่ายก่อนหน้านี้

แต่ถ้าเราเห็นรูปจุดชมวิวของคนอื่นสวย แล้วเราสแกนภาพของเขามาเข้าในคอมพิวเตอร์ของเราเอง แบบนี้จะไม่ถือว่าภาพที่เราสแกนนั้นเป็นลิขสิทธิ์ของเรานะครับ เพราะเป็นการที่เราไปทำซ้ำหรือก๊อปปี้ของคนอื่นมา ไม่ได้เป็นการสร้างสรรค์แต่อย่างใด

ส่วนหลักการที่สองที่บอกว่างานนั้นจะต้องมีการแสดงออกซึ่งความคิด หรือ Expression of idea ขอให้สังเกตให้ดี ๆ ว่าหลักการนี้คุ้มครองเรื่องการแสดงออกซึ่งความคิด แต่ไม่ได้คุ้มครอง ความคิด หรือ idea นะครับ

แปลว่าสิ่งที่เราแค่คิด แต่ไม่ได้แสดงให้มันออกมาเป็นผลงาน ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์

เช่น เราคิดว่าจะแต่งเพลงขึ้นมาสักเพลงหนึ่งซึ่งใหม่มาก เป็นความรักระหว่างคนและหุ่นยนต์ ต่อมาเราไปเล่าไอเดียนี้ให้คนอื่นฟัง ปรากฏว่าคนที่ฟังไปนั้นเอาไอเดียของเราไปแต่งเพลงออกมาในแบบที่เราคิด แบบนี้ก็ไม่ถือว่าเขาละเมิดลิขสิทธิ์ของเราแต่อย่างใด เพราะสิ่งที่เราคิด หรือ ไอเดียของเรานั้นยังไม่ถูกแสดงออกมาเราจึงไม่มีลิขสิทธิ์ในไอเดียดังกล่าว

แต่ถ้าเราแต่งเพลงความรักระหว่างคนและหุ่นยนต์ออกมาแล้ว ปรากฏว่ามีคนมาเอาเนื้อร้องของเราไปดัดแปลง แบบนี้ก็จะถือว่าคนที่เอาเพลงของเราไปดัดแปลงนั้นละเมิดลิขสิทธิ์ของเรา เพราะได้ลงมือสร้างสรรค์เพลงนั้นออกมาจากความคิดของเราแล้ว

พอเข้าใจหลักการของงานที่จะถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์แล้วใช่ไหมครับว่ากฎหมายลิขสิทธิ์จะคุ้มครองงานสร้างสรรค์แบบใด

คำถามถัดมา คือ หากงานสร้างสรรค์นั้น เกิดไปเหมือนหรือคล้ายกับงานของคนอื่นละ แบบนี้จะถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของเขาหรือไม่ ในเรื่องนี้ก็มักจะมีความเห็นเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งอาจจะบอกว่าเป็นการก๊อปปี้งานผิดลิขสิทธิ์แน่ ๆ แต่อีกฝ่ายก็อาจจะบอกว่า ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ไหน เขาแต่ได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานแค่นั้นเอง

การที่จะตอบคำถามข้อนี้ได้ ผมอยากให้ย้อนไปอ่านหลักการคุ้มครองการแสดงออกซึ่งความคิดที่ผมอธิบายไปแล้วซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายลิขสิทธิ์บ้านเราที่บัญญัติไว้ว่า

การคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่คลุมถึงความคิด หรือขั้นตอน กรรมวิธีหรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์

แปลว่ากฎหมายไม่ได้สนใจว่าความคิดที่เรานำมาสร้างสรรค์นั้นจะมาจากไหน ผู้ที่สร้างสรรค์อาจใช้ความคิดของคนอื่นมาจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์งานของตนเอง หรือใช้งานสร้างสรรค์ของคนอื่นมาเป็นแรงบันดาลใจให้ตนเองก็ได้ ซึ่งหลักการนี้เป็นหลักสากลที่ใช้ในกฎหมายลิขสิทธิ์ทั่วโลก ไม่ใช่แต่เพียงประเทศไทยเท่านั้น

ทีนี้ ถ้าเราจะพิจารณาถึงกรณีที่ถกเถียงกันในโซเชียลมีเดียว่า MV นั้นเป็นการลอกเลียกแบบหรือได้แรงบันดาลใจ

เราจะใช้อารมณ์หรือกระแสสังคมเป็นตัวตัดสินไม่ได้ เราจะต้องใช้หลักการตามกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ผมอธิบายไว้แล้วมาปรับเข้ากับเหตุการณ์นี้ โดยพิจารณาว่าสิ่งที่ MV ที่ถูกกล่าวหาว่าก๊อปนั้น เป็นการทำซ้ำหรือดัดงานสร้างสรรค์ของผู้อื่นหรือไม่ เช่น เขาเอาเนื้อร้อง ทำนอง หรือเนื้อเรื่องใน MV ต้นฉบับมาเกือบทั้งหมด ซึ่งแบบนี้ MV ที่ก๊อปมาก็จะถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้ที่สร้างสรรค์ MV ต้นฉบับแน่นอน

แต่ถ้าการก๊อปนั้นเป็นเพียงแต่การเอาความคิด หรือ idea การถ่าย MV บางช่วงบางตอนมาจาก MV ต้นฉบับ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้เขาก็อาจจะโต้แย้งได้ว่า MV ของเขาไม่ได้ลอกเลียนแบบนะ เขาเพียงแต่ได้แรงบันดาลใจมาจากไอเดียของ MV ต้นฉบับ ซึ่งทำให้เราก็อาจจะไม่สามารถเอาผิดเขาฐานละเมิดลิขสิทธิ์ได้

ในส่วนของเคสที่เป็นประเด็นนี้ ถ้าเราอยากจะรู้ว่าใครถูก ใครผิดก็คงต้องรอให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายนำเรื่องขึ้นสู่ศาล เพราะแต่ละคดีมันมีข้อเท็จจริงและรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ผมเพียงแต่ฟังข้อเท็จจริงจากที่มีคนมาถามใน Clubhouse เท่านั้นคงไม่สามารถฟันธงให้ได้

สุดท้ายนี้ ในฐานะนักกฎหมายผมก็อยากฝากไว้ว่า แม้บางเรื่องที่เราทำไปนั้นอาจจะไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำ เพราะอาจส่งผลต่อชื่อเสียงหรือภาพลักษณ์ได้ การสื่อสารที่ดีและจริงใจ จะช่วยรับมือกับสถานการณ์นี้ได้ดีกว่าการตอบแบบแข็งกร้าว และในส่วนของกองเชียร์เอง ก็ต้องระมัดระวังการพูดจาหรือแสดงความเห็นไม่ให้เกินเลย เพราะมิเช่นนั้นแล้วเราอาจจะกลายเป็นผู้ต้องหาในคดีหมิ่นประมาทเสียเอง

***พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 6 วรรคสอง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top